บทที่ 3 การแลกเปลี่ยนก๊าซ

การแลกเปลี่ยนก๊าซของพืช
พืชมีการแลกเปลี่ยนก๊าซเกิดขึ้นหลายแห่ง ดังนี้ คือ
-    ราก ออกซิเจนที่แทรกอยู่ในดินจะแพร่เข้าไปทางขนราก(ROOT HAIR)
-    ลำต้น การแลกเปลี่ยนก๊าซจะเกิดขึ้นที่เลนติเซล(LENTICEL)
-    ใบ การแลกเปลี่ยนก๊าซเหล่านี้ส่วนใหญ่จะเกิดที่ปากใบ(STOMATA)

การหายใจของพืชภายหลังการเก็บเกี่ยว
ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวพืชแล้ว พืชเหล่านั้นจะมีการหายใจแตกต่างกัน
-    พืชที่มีอัตราการหายใจหลังการเก็บเกี่ยวสูง เช่น ผักกาดหอม ผักป่วยแล้ง
-    พืชที่มีอัตราการหายใจต่ำ เช่น มันฝรั่ง
-    พืชบางชนิดหลังจากการเก็บเกี่ยวอัตราการหายใจจะลดลง เช่น องุ่น ส้ม มะนาว สับปะรด เงาะ มังคุด ลำไย ลิ้นจี่ แตงกวา
      พืชต่างชนิดกันก็มีอัตราการหายใจแตกต่างกัน เช่น ดอกคาร์เนชั่นมีอัตราการหายใจสูงกว่าดอกเบญจมาสประมาณ 3-4 เท่า


ข้อควรสังเกต
พืชที่มีอัตราการหายใจหลังเก็บเกี่ยวสูง จะเหี่ยวเฉาเร็วกว่าพืชที่มีการหายใจหลังเก็บเกี่ยวต่ำ
การคายน้ำของพืช
-    ตามปกติ พืชจะคายน้ำในรูปของไอน้ำทางปากใบ
-    ถ้าความชื้นในอากาศสูง ลมสงบ และอุณหภูมิต่ำ พืชจะคายน้ำออกมาในรูปของหยดน้ำทางรูเปิดปลายใบ(HYDATHODE) เรียกกระบวนการนี้ว่า GUTTATION


การดูดน้ำของพืช
น้ำเข้าสู่รากทางขนรากได้โดย
-     กระบวนการออสโมซิส
-     การแพร่ธรรมดา(DIFFUSION) โดยผ่านไปตามผนังเซลล์และช่องว่างระหว่างเซลล์


การลำเลียงน้ำของพืช
การลำเลียงน้ำของพืช จากรากขึ้นไปสู่ยอดเกิดขึ้นโดยอาศัยกระบวนการต่างๆคือ
1.     แรงดึงจากการคายน้ำ (TRANSPIRATION PULL) เมื่อพืชมีการคายน้ำทางปากใบ
2.     แรงดันราก(ROOT PRESSURE) เมื่อ รากดูดน้ำเข้าสู่รากมากๆ จะเกิดแรงดันดันให้น้ำเคลื่อนที่เข้าไปสู่เซลล์ถัดไปตามท่อลำเลียงน้ำขึ้นสู่ยอด
3.     CAPILLARY ACTION เกิดขึ้นได้เนื่องจาก แรงดึงดูดระหว่างโมเลกุลของน้ำกับผนังด้านข้างหลอดในท่อลำเลียงของไซเลม (ADHESION)


ข้อควรจำ      กระบวนการที่มีผลต่อการลำเลียงน้ำมากที่สุดคือแรงดึงจากการคายน้ำ

การลำเลียงแร่ธาตุ
1. การแพร่ธรรมดาจากบริเวณที่มีแร่ธาตุมากเข้าสู่บริเวณที่มีแร่ธาตุน้อย
2. ACTIVE TRANSPORT เป็นการนำแร่ธาตุจากบริเวณที่มีความเข้มข้นน้อย ไปยังบริเวณที่มีแร่ธาตุมากกว่า โดยต้องใช้พลังงานจากการหายใจช่วย

ข้อควรระวัง
      
การลำเลียงแร่ธาตุเกิดขึ้นร่วมกับการลำเลียงน้ำในไซเลม


ธาตุอาหารที่พืชต้องการ
ธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ
1.    ธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณมาก ได้แก่
-    ธาตุอาหารหลัก คือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม
-    ธาตุอาหารรอง ได้แก่ แคลเซียม แมกนีเซียม และซัลเฟอร์
2.    ธาตุอาหารที่พืชต้องการในปริมาณน้อย ได้แก่เหล็ก แมงกานิส สังกะสี ทองแดง โบรอน โมลิดินัม และคลอรีน

การลำเลียงอาหาร
       มึนซ์(MUNCH) อธิบายการลำเลียงอาหารว่า เมื่อพืชสังเคราะห์แสง ได้ผลผลิตเป็นน้ำตาลอยู่ในเซลล์ ทำให้น้ำออสโมซิสเข้าสู่เซลล์ จนเกิดแรงดันเต่งขึ้น จะดันให้สารละลายอาหารไหลเข้าสู่เซลล์ข้างเคียง และเกิดขึ้นเป็นทอดๆเข้าสู่โฟลเอม จนถึงเซลล์ปลายทางจะมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงให้น้ำตาลเป็นแป้ง ซึ่งเป็นสารที่ไม่ละลายน้ำทำให้มีแรงดันออสโมติกต่ำ จึงหยุดเคลื่อนที่

ข้อควรระวัง-    การลำเลียงอาหาร เกิดขึ้นทั้ง2ทิศทาง จากใบสู่ยอด และจากใบสู่ราก
-    การลำเลียงน้ำเกิดขึ้นทิศทางเดียวคือ จากรากสู่ยอด